วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

ชุมชนบ้านคลองเรือสู่โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง



ชุมชนบ้านคลองเรือสู่โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง


                  การเลี้ยงดูอบรมบ่มสอนบุตรหลานให้เติบโตขึ้นเป็นคนดีที่มีค่าของสังคม   เป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของผู้ที่ได้ชื่อว่าพ่อแม่   สอนดีได้ดี  สอนชั่วได้ชั่ว  สอนให้ดีแต่ทำชั่วให้เห็น ก็เป็นไปไม่ได้ที่บุตรหลานจะไม่เอาเยี่ยงอย่างในสิ่งที่เห็น สัมผัส และเรียนรู้ จนเกิดการซึมซับ  ดังคำกล่าวที่ว่าปลูกมะม่วงย่อมได้ผลมะม่วง ฉันใดก็ฉันนั้น  ครอบครัวจึงมีความสำคัญอันดับแรก ในการที่จะปลูกต้นกล้าแห่งจิตสำนึกแก่มนุษย์  เป็นสถาบันทางสังคมแห่งแรกที่เด็กๆ ได้รู้จัก และใกล้ชิด
                           ชุมชนบ้านคลองเรือ ม.8 ต.ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี     แหล่งรวมคนดีแห่งเมืองปักใต้ ที่ตั้งของโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง   ชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วม ชุมชนอยู่ดีมีสุข      เพื่อการพึ่งพาตนเอง ภายใต้กระบวนทรรศในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกันซึ่งมุ่งเน้นที่การพัฒนาคนเป็นหลัก ดังประโยคทองของชาวชุมชนที่ว่า     ปลูกคนก่อนปลูกต้นไม้ ดับคนก่อนดับบ้านดับเมือง

                          

           นายกฤษวิสุทธิ์  มะลิวงศ์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.8 ต.ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี  ขยายความให้ฟังถึงความเป็นมาของโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านคลองเรือ  ว่า     การก่อตัวของกลุ่มเกิดจากการพูดคุยถึงปัญหาของชุมชน และการยกระดับความรู้ให้แก่ชุมชน  ให้โอกาสในการเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัยระหว่างแกนนำซึ่งเน้นคนรุ่นใหม่ ชุมชนคลองเรือมีปราชญ์ชุมชนกว่าสิบท่าน ทั้งด้านการเลี้ยงไก่พื้นเมือง เลี้ยงโคพื้นบ้าน โคชน เลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก  หลักสูตรของเราใช้วิธีการถอดบทเรียน โดยไม่มีอาจารย์สอน ตั้งหลักสูตรเอง  เป็นหลักสูตรเพื่อปากเพื่อท้อง ประเมินผลด้วยผลสำเร็จของงาน   

ขณะนี้ได้ขยายผลการเรียนรู้สู่ชุมชนใกล้เคียง  โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีวันปิด ไม่มีวันหยุด ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบประกาศนียบัตรที่ได้ คือผลงานและความภาคภูมิใจ ริเริ่มด้วยการปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินทุกอย่างที่ปลูก  เพื่อลดรายจ่ายจากวิถีชีวิตที่ชาวบ้านมักจะปลูกพืชเชิงเดี่ยว   เช่น   ยางพารา  ปาล์มน้ำมัน  และผลไม้ต่างๆ  เราคิดที่จะปลูกพืชเชิงเสริมเริ่มด้วยการปลูกไผ่หวาน ปัจจุบันยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชนบ้านคลองเรือ  สิ่งที่คิดตามมาคือพื้นดินในชุมชนซึ่งเป็นดินปนทราย ไม่อุ้มน้ำ ทำอย่างไรเราจึงจะเลี้ยงปลาไว้กินได้ในครัวเรือน ทาง กศน.เมืองสุราษฎร์ธานี ก็ได้พาไปศึกษาดูงานที่ จ.พัทลุง กลับมาทำบ่อปลา 10 ครัวเรือน แล้วยังปลูกผักบุ้งผักกระเฉด เลี้ยงหอยขม    สืบเนื่องไปถึงการเลี้ยงหมูพื้นบ้านขณะนี้มีหมู 5 เล้า เป็นแม่พันธุ์ประมาณ 50 ตัว เฉพาะที่บ้านเองมีแม่พันธุ์อยู่ 11 ตัว จะสามารถผลิตลูกเพื่อจำหน่ายได้ปีละ 200 ตัวๆ ละ 500 บาท ขณะนี้มีคนสั่งจองไว้หมดแล้ว ผลิตไม่ทัน นอกจากนี้ยังสามารถนำขี้หมูมาทำปุ๋ยมูลสัตว์ได้อีก เพราะเปลือกไผ่ หญ้าทุกชนิด ที่ตัดมาให้หมูกิน จะถูกแปรสภาพมาเป็นปุ๋ยหมักอย่างดีไว้ใช้ในหมู่บ้าน เป็นการหมุนเวียนทรัพยากรในชุมชนอย่างครบวงจร
                            ผญบ.กฤษวิสุทธิ์ เล่าต่อว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาแนวทางการดำเนินชีวิตที่ต้องใช้การเรียนรู้ตลอดชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ให้หลักการในเรื่องของความมีเหตุผล ความพอประมาณ และภูมิคุ้มกันชีวิต   แต่ในเรื่องของวิธีทำเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านคลองเรือให้สำเร็จนั้น     เป็นเรื่องที่ชาวชุมชนบ้านคลองเรือเองจะต้องคิดค้นหารูปแบบเอาเอง     นี่คือคำตอบว่าทำไมต้องมีโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านคลองเรือ ที่จัดบรรยากาศการเรียนรู้โดยครูชาวบ้าน  เรียนกันเอง  สอนกันเอง   หลักสูตรคิดเองตามความถนัดของชุมชน  เรียนได้ทุกเพศทุกวัย   ไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือนักขัตฤกษ์      เรียนรู้ได้ตามอัธยาศัย นี่คือวิธีการของการ  “ปลูกคนก่อน  ปลูกต้นไม้”  และ ดับคนก่อนดับบ้านดับเมืองดับความเดือดร้อนของคนในชุมชนได้ ก็ดับความรุ่มร้อนของบ้านเมืองได้เช่นกัน


 
                           สิ่งที่ค้นพบจากการขับเคลื่อนโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านคลองเรือ คือ    บทเรียนชุมชนบ้านคลองเรือที่บ่งบอกถึงกระบวนการเรียนรู้และการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ผ่านผู้นำที่เข้มแข็ง     ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเชื่อมโยงบูรณาการ แลกเปลี่ยนความรู้กับเครือข่าย นำไปสู่แผนชุมชน มีการวิเคราะห์สภาพปัญหา และหาวิธีแก้ไขปัญหาของชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง     นอกจากนี้ ชุมชนบ้านคลองเรือ ยังตระหนักถึงความสำคัญของการสืบทอดประสบการณ์และงานชุมชนผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อความยั่งยืนของชุมชน   โดยนำเยาวชนและคนรุ่นหลังเข้ามาร่วมเรียนรู้และรับผิดชอบงานของชุมชนอย่างเต็มตัว และให้ความสำคัญกับศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของคนในชุมชนมากขึ้น

  
                                            นายปรเมศวร์  สุขมาก   ผอ.ส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงาน กศน. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  เล่าถึงภารกิจในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ว่า มีหลายคนตั้งคำถามว่าการศึกษาตามอัธยาศัยคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร ที่ผ่านมา กศน.ได้จัดโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตขึ้นใน10 จังหวัดนำร่อง   โดยใช้แหล่งการเรียนรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นเครื่องมือหรือกลไกในการพัฒนาคนและชุมชน    โดยใช้กระบวนการทางการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ซึ่งได้ข้อสรุปออกมาตรงกันว่า    “การศึกษาตามอัธยาศัย คือ การสร้างสภาพบรรยากาศของสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่ในชุมชน คือ แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งทำมาหากิน ให้ความรู้กับชุมชน โดยอาจจะไม่ต้องจัดการศึกษาเลย อาจจะไม่ต้องมีครูหรือหลักสูตร ไม่ต้องมีกระบวนการที่ยุ่งยาก ผู้เรียนก็เรียนตามสภาพวิถีชีวิตของเขาเอง การพัฒนารูปแบบ ๆ นี้    เป็นรูปแบบที่มีความชัดเจนแล้วว่า แหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่อยู่ในวิถีชีวิตของชุมชน เช่น ตัวผู้นำชุมชน ตัวชาวบ้านเอง พื้นที่เรือกสวนไร่นา เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งที่คนในชุมชนจะมาเรียนรู้สิ่งที่ดีงาม      สิ่งที่ประสบความสำเร็จ ในแง่ของการทำงาน การประกอบอาชีพ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ในชุมชน และชุมชนก็มีศักยภาพ มีความรู้มากมายและประสบความสำเร็จได้" ซึ่งใน 10 จังหวัดนำร่องที่ได้ทดลองจัดการศึกษาดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถค้นหาผู้นำของชุมชน และภูมิปัญญาของชุมชนที่นำมาใช้พัฒนาชุมชนของตนเองได้และใช้กระบวนการการศึกษาตามอัธยาศัย เรียนรู้ตามวิถีชีวิตการทำงาน ระดับความสำเร็จของแต่ละชุมชนที่เข้าไปดำเนินงานอาจจะแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง    บางแห่งได้เป็นชุมชนตัวอย่าง ระดับประเทศ ชุมชนบ้านคลองเรือ ของ จ.สุราษฎร์ธานี ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการศึกษาตามอัธยาศัยอีกแห่งหนึ่งที่น่สนใจ ทีเดียว
                                            ศักยภาพของชุมชน ในเรื่องของการพัฒนาแหล่งเรียนรู้   เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกภาคส่วนของสังคม ควรจะหันมามองและให้ความสำคัญกันมากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ จะเป็นพลังบริสุทธิ์ที่มีความเข้มแข็งและมั่นคง    สามารถเสริมสร้างรากฐานของประเทศให้เป็นปึกแผ่นได้อย่างยั่งยืนต่อไป     ที่สำคัญเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้พ่อหลวงมีความสุข เพราะลูกๆเข้าถึงและเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อได้อย่างแท้จริง...
โดย ณัฐมน  ไทยประสิทธิ์เจริญ
                                                                                                                  

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

กศน.ตำบล : แหล่งเรียนรู้ราคาถูก ดึงคุณค่าชุมชนสู่นักบริหารการเรียนรู้

สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุด ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างและเสริมการเรียนรู้เบื้องต้นและดำรงอยู่ของวิถีชีวิตมนุษย์ จะอยู่อย่างไรให้เป็นสุขในฐานะสัตว์สังคมที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จะอยู่อย่างไรให้มีคุณภาพในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงผันผวนทางสังคมเศรษฐกิจ และการเมือง คำตอบอยู่ที่การเรียนรู้ และยอมรับ...
โรงเรียนและชุมชน สถาบันสำคัญในระดับที่ขยายขึ้นมาจากสถาบันครอบครัว สอนการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างร่มเย็นเป็นสุข ได้ทั้งคุณธรรมและความรู้ควบคู่กันไป ถึงช่วงอายุที่เหมาะสมเด็กๆ จะได้เข้าโรงเรียน เพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เพิ่มเติม แต่ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เด็กบางคนสะดุดหยุดลงจากระบบการศึกษาตั้งแต่ยังไม่จบประถม เพราะความจำเป็นทางบ้าน สาววัยละอ่อนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ยังเรียนไม่จบมัธยมต้น มีอันต้องเป็นไป เพราะตกอยู่ในห้วงเสน่หาที่คิดว่าหวานหอม เมื่อตั้งท้องจึงรู้ว่าไม่มีใครปรารถนาดีกับตนเท่าพ่อแม่ ครูอาจารย์ที่พร่ำบ่น และวัยรุ่นชายจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นทาสยาเสพติด เพราะหวั่นไหวกับคำท้าทายของเพื่อน ความห่างไกลความเจริญ และความแร้นแค้นทุรกันดาร ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนต้องค้างเติ่งไร้การศึกษาต่อยอด เพราะไม่มีโรงเรียนมัธยมให้เรียน ถ้าอยากเรียนต้องเดินทางไปครึ่งวัน กลับอีกครึ่งวัน ก่อเกิดความท้อแท้เหนื่อยหน่ายกับการเดินทาง จึงตัดสินใจไม่เรียน คนเหล่านี้เรียกโดยรวมว่า “ผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษา”
นอกจากนี้ในอนาคต ประเทศไทยมีแนวโน้มการเพิ่มจำนวนประชากรสูงอายุมากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ในขณะที่เด็กและเยาวชนมีจำนวนลดลง เนื่องจากหญิงสาวสมัยใหม่ไม่อยากมีครอบครัว เพราะเห็นตัวอย่างความบีบคั้นของชีวิตครอบครัว ชายหนุ่มเองก็ไม่อยากมีภาระ ปริมาณการเกิดของเด็กจึงลดลงตามไปด้วย ภารกิจของผู้ที่จัดการศึกษาในระบบจะลดลง โรงเรียนที่มีนักเรียนเข้าเรียนน้อยลงอาจต้องถึงกับปิดตัวลงไป ทั้งหมดที่กล่าวถึงจะต้องได้รับการบริการทางการศึกษาจากภาครัฐอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ต้องรับผิดชอบ ซึ่งหากคิดคำนวณเป็นตัวเลขคร่าวๆ ในอีก 15 ปี ข้างหน้า สำนักงาน กศน.ต้องดูแลประชากรราวๆ  45 ล้านคน โดยสำนักงาน กศน.ต้องใช้ยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีชุมชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการพัฒนาชุมชนของตนเอง จุดชนวนกระตุ้นให้ระเบิดเกิดจากภายใน ซึ่งขณะนี้สำนักงาน กศน.ได้เริ่มดำเนินการรองรับในเรื่องนี้แล้ว โดยการจัดตั้ง กศน.ตำบล ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการระดับที่เล็กที่สุด ลึกที่สุด และเข้าถึงชุมชนมากที่สุด เพื่อให้ดูแลคนไทยได้อย่างทั่วถึง  
ณ วันนี้ สำนักงาน กศน.กำลังดำเนินการจัดตั้ง กศน.ตำบล เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ราคาถูกสำหรับประชาชน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาจากล่างขึ้นบนในรูปของพีระมิดกลับหัว คือจากระดับชุมชนขึ้นไปถึงการพัฒนาการศึกษาระดับชาติ ด้วยความเชื่อมโยงของการพัฒนา โดยตั้งเป้าว่าจะจัดตั้ง กศน.ตำบล ให้ครบ 7,409 แห่ง ภายในเดือนกันยายน 2553 สำหรับการทำงานของ กศน.ตำบล ไม่เริ่มจากศูนย์ หากต่อยอดจากการทำงานของศูนย์การเรียนชุมชน (ศรช.) ที่ได้เข้าไปฝังรากในแต่ละชุมชนอย่างกลมกลืนก่อนหน้านี้แล้ว ประชาชน ชุมชนคุ้นเคยกับการทำงานของ กศน.ในระดับพื้นที่อย่างแน่นแฟ้น และพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลให้การผลักดันให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ของรัฐ ที่มุ่งเน้นให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ เดินไปได้ตามเจตนารมณ์ ภายใต้เสาหลัก 3 ประการ คือ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเรียนรู้ของคนไทย เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงมีคุณภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารจัดการศึกษา ซึ่งมีทั้งกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรการการอาชีวศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ได้เข้ามาร่วมกับ กศน.ตำบล จัดกิจกรรมการเรียนรู้แก่ประชาชนอย่างหลากหลาย โดยมีอาสาสมัคร กศน.ซึ่งมาจากนักศึกษาและประชาชนในชุมชน ที่ต้องการเห็นพัฒนาการของชุมชนที่ตนเกิดเป็นไปในทางที่ดี ทำหน้าที่ส่งเสริมเสริมให้พ่อ แม่ พี่ป้า น้าอา ปู่ย่า ตายาย เด็ก เยาวชน และทุกคนในชุมชน ได้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเข้าร่วมกิจกรรมของ กศน.ตำบล อย่างเต็มใจ โดยมีหัวหน้า กศน.ตำบล ซึ่งมาจาก ครู ศรช.เป็นผู้สะบัดแส้ในการบริหารจัดการให้ชุมชนในตำบลนั้นๆ เกิดการเรียนรู้ทั้งวิชาการ อาชีพ คุณธรรมจริยธรรม รวมถึงทักษะชีวิตในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขด้วย
แหล่งเรียนรู้ราคาถูก ที่ใช้เงินซื้อไม่ได้ จะเป็นแหล่งค้นคว้าความรู้ด้านต่างๆ ที่สำคัญและมีคุณภาพ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอาชีพ และยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมการศึกษานอกระบบ ซึ่งประกอบด้วย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การจัดกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัย จัดเป็นศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) จัดเป็นศูนย์ Tutor Channel จัดบริการ Internet เพื่อการเรียนรู้ จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย ส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นศูนย์เชื่อมโยงระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน และศาสนาอื่นๆ รวมถึงสร้างเครือข่ายรักการอ่านแก่ลูกหลานในชุมชนให้เกิดนิสัยรักการอ่านอย่างยั่งยืน
คำว่าแหล่งเรียนรู้ราคาถูกไม่ได้หมายความว่าไม่มีราคา หรือไม่มีคุณค่า ที่ว่าถูกคือผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เพราะรัฐจะเป็นผู้ลงทุนให้ทั้งอาคารสถานที่ สื่อการเรียนการสอน วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณสนับสนุนต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการจัดการเรียนรู้ของ กศน.ตำบล ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละชุมชน คนในชุมชนจะมีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น เด็กและเยาวชนมีแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ไม่ต้องบิดจักรยานยนต์ไปไกลให้พ่อแม่เป็นห่วง พ่อแม่ลูกเรียนรู้ร่วมกัน ลดช่องว่างในครอบครัว ลดปัญหาสังคม ลดปัญหาความขัดแย้งภายในชาติ เพราะประชาชนมีความสามารถในการคิดหาเหตุ ใช้ผลวิเคราะห์ แยกแยะถูกผิดได้กระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น นี่คือภารกิจของ กศน.ตำบล แหล่งเรียนรู้ราคาถูก แต่มหาศาลในด้านคุณค่า ทีชุมชนและประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง........      

คนพิการ กับโอกาสทางการศึกษาตลอดชีวิต

แม้ว่าบ้านเมืองเราทุกวันนี้ จะถูกเรียกว่าเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ฉับไว การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วคล่องตัว แต่ท่ามกลางความทันสมัยเหล่านี้ยังมีเด็ก เยาวชนและประชาชนคนไทยที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเรียนรู้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) รายงานว่ากลุ่มเป้าหมายดังกล่าวมีมากถึง 15.7 ล้านคน โดยแบ่งประเภทออก เป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กนอกระบบ  กลุ่มเด็กพิการทั้งกางกายและสติปัญญา เด็กในชนบทห่างไกล เด็กและเยาวชนที่ต้องคดี  และกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาส ซึ่งกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดนี้ต้องการการเติมเต็มด้านการศึกษาและการเพิ่มพูนทักษะอาชีพเพื่อให้สามารถดำรงวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นสุข และแม้ว่าคนเหล่านี้ จะเป็นผู้ที่ด้อย พลาด และขาดโอกาส ไม่ว่าจะเป็นทางสังคมหรือการศึกษา รัฐมีหน้าที่ต้องคืนโอกาสดังกล่าวให้พวกเขาในฐานะที่บุคคลเหล่านี้มีคุณค่าแห่งความเป็น “คนไทย”ที่เสมอหน้ากัน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลได้กำหนดมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทย เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีทิศทางชัดเจน ใน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการป้องกัน มาตรการแก้ไข มาตรการฟื้นฟู และมาตรการประกันอนาคต
ผู้ด้อยโอกาส 5 ประเภท ข้างต้น เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) รับผิดชอบดูแลในการดำเนินการจัดและส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น หลากหลายสไตล์นอกระบบ
วันนี้จะขอกล่าวถึงภารกิจในด้านการจัดการศึกษาให้แก่คนพิการซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเภทผู้ด้อยโอกาส ซึ่งดำเนินการโดย ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ (ศกพ.)  สำนักงาน กศน. เป็นแม่ข่าย และมีหน่วยงานสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน.ในแต่ละพื่นที่เป็นผู้ปฏิบัติ จัดและส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับคนพิการ”  โดยได้แบ่งกลุ่มความพิการไว้  9  ประเภท คือ ด้าน การเห็น ด้านการได้ยิน ด้านสติปัญญา ด้านร่างกายและสุขภาพ ด้านการเรียนรู้ ด้านการพูดและภาษา ด้านพฤติกรรมหรืออารมณ์ บุคคลออทิสติก บุคคลพิการซ้อน หลักการดำเนินงานเพื่อจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ของ กศน. คือ การส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ/ภาคเอกชน ครอบครัวและชุมชน เข้ามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยการขยายโอกาสและบริการทางการศึกษาและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิต พึ่งพาตนเองได้และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
                นายพีรฉัตร อนุวงศ์  ผู้อำนวยการศูนย์ กศน.อำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา  กล่าวว่า การดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการของ กศน.อำเภอวังน้ำเขียว แบ่งสาระสำคัญออกเป็น 3 ห่วงๆ แรก คือ ทักษะชีวิต คือเน้นให้ผู้พิการเรียนรู้ที่ช่วยเหลือตนเอง และดำรงชีวิตด้วยตนเองให้ได้ ห่วงที่ 2 ทักษะอาชีพ (ต่อเนื่อง) คือการต่อยอดจากห่างแรก เมื่อช่วยเหลือตนเองได้แล้ว ก็สามารถเลี้ยงตนเองได้ด้วย  และห่วงที่ 3 การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นผลพลอยได้ ผู้พิการบางประเภทมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ด้านวิชาการ ก็ส่งเสริมกันอย่างเต็มที่ ในด้านการจัดกระบวนการ คือการเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อ เช่น สื่อเอกสาร VCD อินเตอร์เน็ต และการเรียนรู้ด้วยตนเองและพบกลุ่มตามเวลานัดหมายโดยร่วมทำกิจกรรมร่วมฝึกทักษะ และร่วมทดลองกิจกรรมเสริม โดย  ประโยชน์ที่ผู้พิการจะได้รับจากการเรียนการสอนของ กศน.คือการฟื้นฟูสมรรรถภาพความพิการเป็นรายบุคคล โดยมีการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) และแผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) การกระตุ้นการเรียนรู้การเข้าร่วมกิจกรรมและสังคมด้านการจัดการเรียนรู้ ในรูปแบบที่หลากหลาย และเหมาะสมเป็นรายบุคคล  ประโยชน์ด้านการบูรณาการ เชื่อมโยงเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิต  ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชุมชน สังคม และบุคคลที่เกี่ยวข้อง อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี
กศน.อำเภอวังน้ำเขียว มีทีมบุคลากรผู้สอนคนพิการที่ขยันขันแข็งและทำงานอย่างเสียสละ ทุ่มเทจัดการศึกษาเพื่อผู้พิการ รวม 11 คน โดย 5 ใน 11 คน จบการศึกษาด้านการศึกษาพิเศษ โดยตรง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่เหลืออีก 6 คน แม้ว่าจะไม่ได้เรียนมาในสายวิชาเฉพาะ แต่ก็มีความมุ่งมั่น รักการเรียนรู้ โดยการเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติมทั้งจากการทำงาน และเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ แต่ขาดหลักประกันทางด้านวิชาชีพ เนื่องจากสถานภาพการจ้างเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งครูผู้สอนคนพิการเท่านั้น ซึ่งหากพวกเขาเหล่านี้ไม่มีอุดมการณ์สูงส่ง ปัญหาสมองไหลย่อมเกิดได้อย่างแน่นอน  เนื่องจากในแต่ละปีมีบัณฑิตจบใหม่ในสาขาดังกล่าวน้อยมาก และในสังคมยังต้องการคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ ไปช่วยเยียวยาคนในครอบครัว และชุมชนอีกจำนวนไม่น้อย
น.ส.วาสนา  สุขเกษม หรือครูก้อย หลานสาวย่าโมคนเก่ง วัน 24 กะรัต ที่ไม่เคยย่อท้อกับการเดินทางฝ่าถนนลูกรังที่แสนยากลำบากจาก กศน.อำเภอวังน้ำเขียว  จ.นครราชสีมา ถึงบ้านของน้องสุวรรณา ผู้พิการทางสติปัญญา ระดับ 5 วัย 27 ปี ในความดูแลของเธอ โดยมีจักรยานยนต์คู่ใจเป็นพาหนะ ระยะทางไปกลับเกือบ 80  กิโลเมตร เธอเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เธอต้องเข้าไปสอนน้องๆ  ว่า เพราะเด็กๆ เหล่านี้ ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ครอบครัวยากจน สภาพร่างกายและจิตใจที่แตกต่าง กางกั้นพวกเขาออกจากสังคมปกติ และตนเองคิดว่า การเป็นครู ต้องเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ อยู่ที่ไหนก็เป็นครูได้ ซึ่งพัฒนาการที่เกิดขึ้นกับน้องสุวรรณา คือความชื่นใจ จากที่ไม่สบตากับใคร ไม่เข้าสังคม และช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ณ วันนี้ น้องสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ล้างหน้าแปรงฟันเองได้ ใช้ภาษาท่าทางและการสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ แม่และยายก็เบาแรงลง บางครั้งถึงวันนัดมาสอน แต่น้องตามพ่อแม่ไปทำงานในไร่ผักกาด ซึ่งอยู่ไกลออกไป เราก็ขี่มอเตอร์ไซค์ตามไปสอนในไร่ผักกาด เพื่อให้น้องสุวรรณามีพัฒนาการที่ต่อเนื่อง
นอกจากน้องสุวรรณาแล้ว ครูก้อยยังมีภาระหน้าที่ต้องดูแลจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้พิการอีกหลายคนใน อ.วังน้ำเขียว โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้พิการประเภทสติปัญญา เช่น น้องหนิง วัย 17 ปี เป็นออทิสติก จากเดิมไม่ยอมรับอะไรทั้งสิ้น ส่งเสียงกรี๊ดอย่างเดียว ปัจจุบันกำลังฝึกเขียนภาษาไทย มีพัฒนาการที่น่าชื่นชม และยังมีความจำที่ยอดเยี่ยม ดูได้จากทุกครั้งที่ครูก้อยเข้าไปสอน น้องหนิงจะทวงกิ๊บติดผมคิตตี้สีชมพูที่ครูก้อยสัญญาไว้ตลอด ถือว่าเป็นความผูกพันของครูและศิษย์ที่ใครเข้าไปสัมผัสคงจะอดชื่นชมไม่ได้...
ภารกิจการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการที่ กศน.อำเภอวังน้ำเขียวและทีมงาน กำลังขับเคลื่อนอยู่นี้ สอดคล้องกับมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทย ที่รัฐกำหนดถึง 3 ใน 4 มาตรการ คือ มาตรการแก้ไข มาตรการฟื้นฟู และมาตรการประกันอนาคต ที่แม้ว่าสังคมจะมองไม่เห็นความทุ่มเทและความเหน็ดเหนื่อยของคน กศน.ในพื้นที่ แต่ผู้พิการยังรอพวกเขาอยู่ด้วยแววตาแห่งความหวัง ในโอกาสแห่งการเรียนรู้ที่แทบจะไม่เคยมีใครหยิบยื่นให้...