วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

กศน.ตำบล : แหล่งเรียนรู้ราคาถูก ดึงคุณค่าชุมชนสู่นักบริหารการเรียนรู้

สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุด ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างและเสริมการเรียนรู้เบื้องต้นและดำรงอยู่ของวิถีชีวิตมนุษย์ จะอยู่อย่างไรให้เป็นสุขในฐานะสัตว์สังคมที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จะอยู่อย่างไรให้มีคุณภาพในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงผันผวนทางสังคมเศรษฐกิจ และการเมือง คำตอบอยู่ที่การเรียนรู้ และยอมรับ...
โรงเรียนและชุมชน สถาบันสำคัญในระดับที่ขยายขึ้นมาจากสถาบันครอบครัว สอนการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างร่มเย็นเป็นสุข ได้ทั้งคุณธรรมและความรู้ควบคู่กันไป ถึงช่วงอายุที่เหมาะสมเด็กๆ จะได้เข้าโรงเรียน เพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เพิ่มเติม แต่ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เด็กบางคนสะดุดหยุดลงจากระบบการศึกษาตั้งแต่ยังไม่จบประถม เพราะความจำเป็นทางบ้าน สาววัยละอ่อนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ยังเรียนไม่จบมัธยมต้น มีอันต้องเป็นไป เพราะตกอยู่ในห้วงเสน่หาที่คิดว่าหวานหอม เมื่อตั้งท้องจึงรู้ว่าไม่มีใครปรารถนาดีกับตนเท่าพ่อแม่ ครูอาจารย์ที่พร่ำบ่น และวัยรุ่นชายจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นทาสยาเสพติด เพราะหวั่นไหวกับคำท้าทายของเพื่อน ความห่างไกลความเจริญ และความแร้นแค้นทุรกันดาร ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนต้องค้างเติ่งไร้การศึกษาต่อยอด เพราะไม่มีโรงเรียนมัธยมให้เรียน ถ้าอยากเรียนต้องเดินทางไปครึ่งวัน กลับอีกครึ่งวัน ก่อเกิดความท้อแท้เหนื่อยหน่ายกับการเดินทาง จึงตัดสินใจไม่เรียน คนเหล่านี้เรียกโดยรวมว่า “ผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษา”
นอกจากนี้ในอนาคต ประเทศไทยมีแนวโน้มการเพิ่มจำนวนประชากรสูงอายุมากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ในขณะที่เด็กและเยาวชนมีจำนวนลดลง เนื่องจากหญิงสาวสมัยใหม่ไม่อยากมีครอบครัว เพราะเห็นตัวอย่างความบีบคั้นของชีวิตครอบครัว ชายหนุ่มเองก็ไม่อยากมีภาระ ปริมาณการเกิดของเด็กจึงลดลงตามไปด้วย ภารกิจของผู้ที่จัดการศึกษาในระบบจะลดลง โรงเรียนที่มีนักเรียนเข้าเรียนน้อยลงอาจต้องถึงกับปิดตัวลงไป ทั้งหมดที่กล่าวถึงจะต้องได้รับการบริการทางการศึกษาจากภาครัฐอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ต้องรับผิดชอบ ซึ่งหากคิดคำนวณเป็นตัวเลขคร่าวๆ ในอีก 15 ปี ข้างหน้า สำนักงาน กศน.ต้องดูแลประชากรราวๆ  45 ล้านคน โดยสำนักงาน กศน.ต้องใช้ยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีชุมชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการพัฒนาชุมชนของตนเอง จุดชนวนกระตุ้นให้ระเบิดเกิดจากภายใน ซึ่งขณะนี้สำนักงาน กศน.ได้เริ่มดำเนินการรองรับในเรื่องนี้แล้ว โดยการจัดตั้ง กศน.ตำบล ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการระดับที่เล็กที่สุด ลึกที่สุด และเข้าถึงชุมชนมากที่สุด เพื่อให้ดูแลคนไทยได้อย่างทั่วถึง  
ณ วันนี้ สำนักงาน กศน.กำลังดำเนินการจัดตั้ง กศน.ตำบล เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ราคาถูกสำหรับประชาชน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาจากล่างขึ้นบนในรูปของพีระมิดกลับหัว คือจากระดับชุมชนขึ้นไปถึงการพัฒนาการศึกษาระดับชาติ ด้วยความเชื่อมโยงของการพัฒนา โดยตั้งเป้าว่าจะจัดตั้ง กศน.ตำบล ให้ครบ 7,409 แห่ง ภายในเดือนกันยายน 2553 สำหรับการทำงานของ กศน.ตำบล ไม่เริ่มจากศูนย์ หากต่อยอดจากการทำงานของศูนย์การเรียนชุมชน (ศรช.) ที่ได้เข้าไปฝังรากในแต่ละชุมชนอย่างกลมกลืนก่อนหน้านี้แล้ว ประชาชน ชุมชนคุ้นเคยกับการทำงานของ กศน.ในระดับพื้นที่อย่างแน่นแฟ้น และพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลให้การผลักดันให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ของรัฐ ที่มุ่งเน้นให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ เดินไปได้ตามเจตนารมณ์ ภายใต้เสาหลัก 3 ประการ คือ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเรียนรู้ของคนไทย เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงมีคุณภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารจัดการศึกษา ซึ่งมีทั้งกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรการการอาชีวศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ได้เข้ามาร่วมกับ กศน.ตำบล จัดกิจกรรมการเรียนรู้แก่ประชาชนอย่างหลากหลาย โดยมีอาสาสมัคร กศน.ซึ่งมาจากนักศึกษาและประชาชนในชุมชน ที่ต้องการเห็นพัฒนาการของชุมชนที่ตนเกิดเป็นไปในทางที่ดี ทำหน้าที่ส่งเสริมเสริมให้พ่อ แม่ พี่ป้า น้าอา ปู่ย่า ตายาย เด็ก เยาวชน และทุกคนในชุมชน ได้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเข้าร่วมกิจกรรมของ กศน.ตำบล อย่างเต็มใจ โดยมีหัวหน้า กศน.ตำบล ซึ่งมาจาก ครู ศรช.เป็นผู้สะบัดแส้ในการบริหารจัดการให้ชุมชนในตำบลนั้นๆ เกิดการเรียนรู้ทั้งวิชาการ อาชีพ คุณธรรมจริยธรรม รวมถึงทักษะชีวิตในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขด้วย
แหล่งเรียนรู้ราคาถูก ที่ใช้เงินซื้อไม่ได้ จะเป็นแหล่งค้นคว้าความรู้ด้านต่างๆ ที่สำคัญและมีคุณภาพ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอาชีพ และยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมการศึกษานอกระบบ ซึ่งประกอบด้วย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การจัดกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัย จัดเป็นศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) จัดเป็นศูนย์ Tutor Channel จัดบริการ Internet เพื่อการเรียนรู้ จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย ส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นศูนย์เชื่อมโยงระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน และศาสนาอื่นๆ รวมถึงสร้างเครือข่ายรักการอ่านแก่ลูกหลานในชุมชนให้เกิดนิสัยรักการอ่านอย่างยั่งยืน
คำว่าแหล่งเรียนรู้ราคาถูกไม่ได้หมายความว่าไม่มีราคา หรือไม่มีคุณค่า ที่ว่าถูกคือผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เพราะรัฐจะเป็นผู้ลงทุนให้ทั้งอาคารสถานที่ สื่อการเรียนการสอน วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณสนับสนุนต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการจัดการเรียนรู้ของ กศน.ตำบล ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละชุมชน คนในชุมชนจะมีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น เด็กและเยาวชนมีแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ไม่ต้องบิดจักรยานยนต์ไปไกลให้พ่อแม่เป็นห่วง พ่อแม่ลูกเรียนรู้ร่วมกัน ลดช่องว่างในครอบครัว ลดปัญหาสังคม ลดปัญหาความขัดแย้งภายในชาติ เพราะประชาชนมีความสามารถในการคิดหาเหตุ ใช้ผลวิเคราะห์ แยกแยะถูกผิดได้กระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น นี่คือภารกิจของ กศน.ตำบล แหล่งเรียนรู้ราคาถูก แต่มหาศาลในด้านคุณค่า ทีชุมชนและประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง........      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น