วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

คนพิการ กับโอกาสทางการศึกษาตลอดชีวิต

แม้ว่าบ้านเมืองเราทุกวันนี้ จะถูกเรียกว่าเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ฉับไว การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วคล่องตัว แต่ท่ามกลางความทันสมัยเหล่านี้ยังมีเด็ก เยาวชนและประชาชนคนไทยที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเรียนรู้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) รายงานว่ากลุ่มเป้าหมายดังกล่าวมีมากถึง 15.7 ล้านคน โดยแบ่งประเภทออก เป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กนอกระบบ  กลุ่มเด็กพิการทั้งกางกายและสติปัญญา เด็กในชนบทห่างไกล เด็กและเยาวชนที่ต้องคดี  และกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาส ซึ่งกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดนี้ต้องการการเติมเต็มด้านการศึกษาและการเพิ่มพูนทักษะอาชีพเพื่อให้สามารถดำรงวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นสุข และแม้ว่าคนเหล่านี้ จะเป็นผู้ที่ด้อย พลาด และขาดโอกาส ไม่ว่าจะเป็นทางสังคมหรือการศึกษา รัฐมีหน้าที่ต้องคืนโอกาสดังกล่าวให้พวกเขาในฐานะที่บุคคลเหล่านี้มีคุณค่าแห่งความเป็น “คนไทย”ที่เสมอหน้ากัน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลได้กำหนดมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทย เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีทิศทางชัดเจน ใน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการป้องกัน มาตรการแก้ไข มาตรการฟื้นฟู และมาตรการประกันอนาคต
ผู้ด้อยโอกาส 5 ประเภท ข้างต้น เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) รับผิดชอบดูแลในการดำเนินการจัดและส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น หลากหลายสไตล์นอกระบบ
วันนี้จะขอกล่าวถึงภารกิจในด้านการจัดการศึกษาให้แก่คนพิการซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเภทผู้ด้อยโอกาส ซึ่งดำเนินการโดย ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ (ศกพ.)  สำนักงาน กศน. เป็นแม่ข่าย และมีหน่วยงานสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน.ในแต่ละพื่นที่เป็นผู้ปฏิบัติ จัดและส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับคนพิการ”  โดยได้แบ่งกลุ่มความพิการไว้  9  ประเภท คือ ด้าน การเห็น ด้านการได้ยิน ด้านสติปัญญา ด้านร่างกายและสุขภาพ ด้านการเรียนรู้ ด้านการพูดและภาษา ด้านพฤติกรรมหรืออารมณ์ บุคคลออทิสติก บุคคลพิการซ้อน หลักการดำเนินงานเพื่อจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ของ กศน. คือ การส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ/ภาคเอกชน ครอบครัวและชุมชน เข้ามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยการขยายโอกาสและบริการทางการศึกษาและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิต พึ่งพาตนเองได้และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
                นายพีรฉัตร อนุวงศ์  ผู้อำนวยการศูนย์ กศน.อำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา  กล่าวว่า การดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการของ กศน.อำเภอวังน้ำเขียว แบ่งสาระสำคัญออกเป็น 3 ห่วงๆ แรก คือ ทักษะชีวิต คือเน้นให้ผู้พิการเรียนรู้ที่ช่วยเหลือตนเอง และดำรงชีวิตด้วยตนเองให้ได้ ห่วงที่ 2 ทักษะอาชีพ (ต่อเนื่อง) คือการต่อยอดจากห่างแรก เมื่อช่วยเหลือตนเองได้แล้ว ก็สามารถเลี้ยงตนเองได้ด้วย  และห่วงที่ 3 การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นผลพลอยได้ ผู้พิการบางประเภทมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ด้านวิชาการ ก็ส่งเสริมกันอย่างเต็มที่ ในด้านการจัดกระบวนการ คือการเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อ เช่น สื่อเอกสาร VCD อินเตอร์เน็ต และการเรียนรู้ด้วยตนเองและพบกลุ่มตามเวลานัดหมายโดยร่วมทำกิจกรรมร่วมฝึกทักษะ และร่วมทดลองกิจกรรมเสริม โดย  ประโยชน์ที่ผู้พิการจะได้รับจากการเรียนการสอนของ กศน.คือการฟื้นฟูสมรรรถภาพความพิการเป็นรายบุคคล โดยมีการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) และแผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) การกระตุ้นการเรียนรู้การเข้าร่วมกิจกรรมและสังคมด้านการจัดการเรียนรู้ ในรูปแบบที่หลากหลาย และเหมาะสมเป็นรายบุคคล  ประโยชน์ด้านการบูรณาการ เชื่อมโยงเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิต  ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชุมชน สังคม และบุคคลที่เกี่ยวข้อง อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี
กศน.อำเภอวังน้ำเขียว มีทีมบุคลากรผู้สอนคนพิการที่ขยันขันแข็งและทำงานอย่างเสียสละ ทุ่มเทจัดการศึกษาเพื่อผู้พิการ รวม 11 คน โดย 5 ใน 11 คน จบการศึกษาด้านการศึกษาพิเศษ โดยตรง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่เหลืออีก 6 คน แม้ว่าจะไม่ได้เรียนมาในสายวิชาเฉพาะ แต่ก็มีความมุ่งมั่น รักการเรียนรู้ โดยการเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติมทั้งจากการทำงาน และเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ แต่ขาดหลักประกันทางด้านวิชาชีพ เนื่องจากสถานภาพการจ้างเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งครูผู้สอนคนพิการเท่านั้น ซึ่งหากพวกเขาเหล่านี้ไม่มีอุดมการณ์สูงส่ง ปัญหาสมองไหลย่อมเกิดได้อย่างแน่นอน  เนื่องจากในแต่ละปีมีบัณฑิตจบใหม่ในสาขาดังกล่าวน้อยมาก และในสังคมยังต้องการคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ ไปช่วยเยียวยาคนในครอบครัว และชุมชนอีกจำนวนไม่น้อย
น.ส.วาสนา  สุขเกษม หรือครูก้อย หลานสาวย่าโมคนเก่ง วัน 24 กะรัต ที่ไม่เคยย่อท้อกับการเดินทางฝ่าถนนลูกรังที่แสนยากลำบากจาก กศน.อำเภอวังน้ำเขียว  จ.นครราชสีมา ถึงบ้านของน้องสุวรรณา ผู้พิการทางสติปัญญา ระดับ 5 วัย 27 ปี ในความดูแลของเธอ โดยมีจักรยานยนต์คู่ใจเป็นพาหนะ ระยะทางไปกลับเกือบ 80  กิโลเมตร เธอเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เธอต้องเข้าไปสอนน้องๆ  ว่า เพราะเด็กๆ เหล่านี้ ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ครอบครัวยากจน สภาพร่างกายและจิตใจที่แตกต่าง กางกั้นพวกเขาออกจากสังคมปกติ และตนเองคิดว่า การเป็นครู ต้องเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ อยู่ที่ไหนก็เป็นครูได้ ซึ่งพัฒนาการที่เกิดขึ้นกับน้องสุวรรณา คือความชื่นใจ จากที่ไม่สบตากับใคร ไม่เข้าสังคม และช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ณ วันนี้ น้องสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ล้างหน้าแปรงฟันเองได้ ใช้ภาษาท่าทางและการสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ แม่และยายก็เบาแรงลง บางครั้งถึงวันนัดมาสอน แต่น้องตามพ่อแม่ไปทำงานในไร่ผักกาด ซึ่งอยู่ไกลออกไป เราก็ขี่มอเตอร์ไซค์ตามไปสอนในไร่ผักกาด เพื่อให้น้องสุวรรณามีพัฒนาการที่ต่อเนื่อง
นอกจากน้องสุวรรณาแล้ว ครูก้อยยังมีภาระหน้าที่ต้องดูแลจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้พิการอีกหลายคนใน อ.วังน้ำเขียว โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้พิการประเภทสติปัญญา เช่น น้องหนิง วัย 17 ปี เป็นออทิสติก จากเดิมไม่ยอมรับอะไรทั้งสิ้น ส่งเสียงกรี๊ดอย่างเดียว ปัจจุบันกำลังฝึกเขียนภาษาไทย มีพัฒนาการที่น่าชื่นชม และยังมีความจำที่ยอดเยี่ยม ดูได้จากทุกครั้งที่ครูก้อยเข้าไปสอน น้องหนิงจะทวงกิ๊บติดผมคิตตี้สีชมพูที่ครูก้อยสัญญาไว้ตลอด ถือว่าเป็นความผูกพันของครูและศิษย์ที่ใครเข้าไปสัมผัสคงจะอดชื่นชมไม่ได้...
ภารกิจการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการที่ กศน.อำเภอวังน้ำเขียวและทีมงาน กำลังขับเคลื่อนอยู่นี้ สอดคล้องกับมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทย ที่รัฐกำหนดถึง 3 ใน 4 มาตรการ คือ มาตรการแก้ไข มาตรการฟื้นฟู และมาตรการประกันอนาคต ที่แม้ว่าสังคมจะมองไม่เห็นความทุ่มเทและความเหน็ดเหนื่อยของคน กศน.ในพื้นที่ แต่ผู้พิการยังรอพวกเขาอยู่ด้วยแววตาแห่งความหวัง ในโอกาสแห่งการเรียนรู้ที่แทบจะไม่เคยมีใครหยิบยื่นให้...      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น