วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

ชุมชนบ้านคลองเรือสู่โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง



ชุมชนบ้านคลองเรือสู่โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง


                  การเลี้ยงดูอบรมบ่มสอนบุตรหลานให้เติบโตขึ้นเป็นคนดีที่มีค่าของสังคม   เป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของผู้ที่ได้ชื่อว่าพ่อแม่   สอนดีได้ดี  สอนชั่วได้ชั่ว  สอนให้ดีแต่ทำชั่วให้เห็น ก็เป็นไปไม่ได้ที่บุตรหลานจะไม่เอาเยี่ยงอย่างในสิ่งที่เห็น สัมผัส และเรียนรู้ จนเกิดการซึมซับ  ดังคำกล่าวที่ว่าปลูกมะม่วงย่อมได้ผลมะม่วง ฉันใดก็ฉันนั้น  ครอบครัวจึงมีความสำคัญอันดับแรก ในการที่จะปลูกต้นกล้าแห่งจิตสำนึกแก่มนุษย์  เป็นสถาบันทางสังคมแห่งแรกที่เด็กๆ ได้รู้จัก และใกล้ชิด
                           ชุมชนบ้านคลองเรือ ม.8 ต.ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี     แหล่งรวมคนดีแห่งเมืองปักใต้ ที่ตั้งของโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง   ชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วม ชุมชนอยู่ดีมีสุข      เพื่อการพึ่งพาตนเอง ภายใต้กระบวนทรรศในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกันซึ่งมุ่งเน้นที่การพัฒนาคนเป็นหลัก ดังประโยคทองของชาวชุมชนที่ว่า     ปลูกคนก่อนปลูกต้นไม้ ดับคนก่อนดับบ้านดับเมือง

                          

           นายกฤษวิสุทธิ์  มะลิวงศ์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.8 ต.ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี  ขยายความให้ฟังถึงความเป็นมาของโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านคลองเรือ  ว่า     การก่อตัวของกลุ่มเกิดจากการพูดคุยถึงปัญหาของชุมชน และการยกระดับความรู้ให้แก่ชุมชน  ให้โอกาสในการเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัยระหว่างแกนนำซึ่งเน้นคนรุ่นใหม่ ชุมชนคลองเรือมีปราชญ์ชุมชนกว่าสิบท่าน ทั้งด้านการเลี้ยงไก่พื้นเมือง เลี้ยงโคพื้นบ้าน โคชน เลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก  หลักสูตรของเราใช้วิธีการถอดบทเรียน โดยไม่มีอาจารย์สอน ตั้งหลักสูตรเอง  เป็นหลักสูตรเพื่อปากเพื่อท้อง ประเมินผลด้วยผลสำเร็จของงาน   

ขณะนี้ได้ขยายผลการเรียนรู้สู่ชุมชนใกล้เคียง  โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีวันปิด ไม่มีวันหยุด ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบประกาศนียบัตรที่ได้ คือผลงานและความภาคภูมิใจ ริเริ่มด้วยการปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินทุกอย่างที่ปลูก  เพื่อลดรายจ่ายจากวิถีชีวิตที่ชาวบ้านมักจะปลูกพืชเชิงเดี่ยว   เช่น   ยางพารา  ปาล์มน้ำมัน  และผลไม้ต่างๆ  เราคิดที่จะปลูกพืชเชิงเสริมเริ่มด้วยการปลูกไผ่หวาน ปัจจุบันยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชนบ้านคลองเรือ  สิ่งที่คิดตามมาคือพื้นดินในชุมชนซึ่งเป็นดินปนทราย ไม่อุ้มน้ำ ทำอย่างไรเราจึงจะเลี้ยงปลาไว้กินได้ในครัวเรือน ทาง กศน.เมืองสุราษฎร์ธานี ก็ได้พาไปศึกษาดูงานที่ จ.พัทลุง กลับมาทำบ่อปลา 10 ครัวเรือน แล้วยังปลูกผักบุ้งผักกระเฉด เลี้ยงหอยขม    สืบเนื่องไปถึงการเลี้ยงหมูพื้นบ้านขณะนี้มีหมู 5 เล้า เป็นแม่พันธุ์ประมาณ 50 ตัว เฉพาะที่บ้านเองมีแม่พันธุ์อยู่ 11 ตัว จะสามารถผลิตลูกเพื่อจำหน่ายได้ปีละ 200 ตัวๆ ละ 500 บาท ขณะนี้มีคนสั่งจองไว้หมดแล้ว ผลิตไม่ทัน นอกจากนี้ยังสามารถนำขี้หมูมาทำปุ๋ยมูลสัตว์ได้อีก เพราะเปลือกไผ่ หญ้าทุกชนิด ที่ตัดมาให้หมูกิน จะถูกแปรสภาพมาเป็นปุ๋ยหมักอย่างดีไว้ใช้ในหมู่บ้าน เป็นการหมุนเวียนทรัพยากรในชุมชนอย่างครบวงจร
                            ผญบ.กฤษวิสุทธิ์ เล่าต่อว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาแนวทางการดำเนินชีวิตที่ต้องใช้การเรียนรู้ตลอดชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ให้หลักการในเรื่องของความมีเหตุผล ความพอประมาณ และภูมิคุ้มกันชีวิต   แต่ในเรื่องของวิธีทำเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านคลองเรือให้สำเร็จนั้น     เป็นเรื่องที่ชาวชุมชนบ้านคลองเรือเองจะต้องคิดค้นหารูปแบบเอาเอง     นี่คือคำตอบว่าทำไมต้องมีโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านคลองเรือ ที่จัดบรรยากาศการเรียนรู้โดยครูชาวบ้าน  เรียนกันเอง  สอนกันเอง   หลักสูตรคิดเองตามความถนัดของชุมชน  เรียนได้ทุกเพศทุกวัย   ไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือนักขัตฤกษ์      เรียนรู้ได้ตามอัธยาศัย นี่คือวิธีการของการ  “ปลูกคนก่อน  ปลูกต้นไม้”  และ ดับคนก่อนดับบ้านดับเมืองดับความเดือดร้อนของคนในชุมชนได้ ก็ดับความรุ่มร้อนของบ้านเมืองได้เช่นกัน


 
                           สิ่งที่ค้นพบจากการขับเคลื่อนโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านคลองเรือ คือ    บทเรียนชุมชนบ้านคลองเรือที่บ่งบอกถึงกระบวนการเรียนรู้และการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ผ่านผู้นำที่เข้มแข็ง     ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเชื่อมโยงบูรณาการ แลกเปลี่ยนความรู้กับเครือข่าย นำไปสู่แผนชุมชน มีการวิเคราะห์สภาพปัญหา และหาวิธีแก้ไขปัญหาของชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง     นอกจากนี้ ชุมชนบ้านคลองเรือ ยังตระหนักถึงความสำคัญของการสืบทอดประสบการณ์และงานชุมชนผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อความยั่งยืนของชุมชน   โดยนำเยาวชนและคนรุ่นหลังเข้ามาร่วมเรียนรู้และรับผิดชอบงานของชุมชนอย่างเต็มตัว และให้ความสำคัญกับศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของคนในชุมชนมากขึ้น

  
                                            นายปรเมศวร์  สุขมาก   ผอ.ส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงาน กศน. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  เล่าถึงภารกิจในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ว่า มีหลายคนตั้งคำถามว่าการศึกษาตามอัธยาศัยคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร ที่ผ่านมา กศน.ได้จัดโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตขึ้นใน10 จังหวัดนำร่อง   โดยใช้แหล่งการเรียนรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นเครื่องมือหรือกลไกในการพัฒนาคนและชุมชน    โดยใช้กระบวนการทางการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ซึ่งได้ข้อสรุปออกมาตรงกันว่า    “การศึกษาตามอัธยาศัย คือ การสร้างสภาพบรรยากาศของสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่ในชุมชน คือ แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งทำมาหากิน ให้ความรู้กับชุมชน โดยอาจจะไม่ต้องจัดการศึกษาเลย อาจจะไม่ต้องมีครูหรือหลักสูตร ไม่ต้องมีกระบวนการที่ยุ่งยาก ผู้เรียนก็เรียนตามสภาพวิถีชีวิตของเขาเอง การพัฒนารูปแบบ ๆ นี้    เป็นรูปแบบที่มีความชัดเจนแล้วว่า แหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่อยู่ในวิถีชีวิตของชุมชน เช่น ตัวผู้นำชุมชน ตัวชาวบ้านเอง พื้นที่เรือกสวนไร่นา เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งที่คนในชุมชนจะมาเรียนรู้สิ่งที่ดีงาม      สิ่งที่ประสบความสำเร็จ ในแง่ของการทำงาน การประกอบอาชีพ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ในชุมชน และชุมชนก็มีศักยภาพ มีความรู้มากมายและประสบความสำเร็จได้" ซึ่งใน 10 จังหวัดนำร่องที่ได้ทดลองจัดการศึกษาดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถค้นหาผู้นำของชุมชน และภูมิปัญญาของชุมชนที่นำมาใช้พัฒนาชุมชนของตนเองได้และใช้กระบวนการการศึกษาตามอัธยาศัย เรียนรู้ตามวิถีชีวิตการทำงาน ระดับความสำเร็จของแต่ละชุมชนที่เข้าไปดำเนินงานอาจจะแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง    บางแห่งได้เป็นชุมชนตัวอย่าง ระดับประเทศ ชุมชนบ้านคลองเรือ ของ จ.สุราษฎร์ธานี ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการศึกษาตามอัธยาศัยอีกแห่งหนึ่งที่น่สนใจ ทีเดียว
                                            ศักยภาพของชุมชน ในเรื่องของการพัฒนาแหล่งเรียนรู้   เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกภาคส่วนของสังคม ควรจะหันมามองและให้ความสำคัญกันมากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ จะเป็นพลังบริสุทธิ์ที่มีความเข้มแข็งและมั่นคง    สามารถเสริมสร้างรากฐานของประเทศให้เป็นปึกแผ่นได้อย่างยั่งยืนต่อไป     ที่สำคัญเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้พ่อหลวงมีความสุข เพราะลูกๆเข้าถึงและเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อได้อย่างแท้จริง...
โดย ณัฐมน  ไทยประสิทธิ์เจริญ
                                                                                                                  

2 ความคิดเห็น:

  1. เรื่องนี้เขียนไว้นานแล้ว ตั้งแต่ไปติดตามแหล่งเรียนรู้ที่สุราษฎร์ธานี

    ตอบลบ
  2. เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากค่ะ หนูเป็นนักศึกษาจะไปทำโครงงานที่นี่ ได้ข้อมูลจากเว็บนี้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานมากๆค่ะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ